1. โครงการสหกิจศึกษาและการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงาน (Cooperative and Work Integrated Education) หรือ CWIE
การจัดการศึกษาเชิงประสบการณ์ (Experiential Education) บนฐานสมรรถนะ (Competencies-based) สำหรับนักศึกษาระดับปริญญาตรี โดยให้นักศึกษาได้เรียนในสถาบันอุดมศึกษาควบคู่กับการไปปฎิบัติงานจริงในสถานประกอบการ (Workplace) รวมระยะเวลาไม่น้อยกว่า 16 สัปดาห์การทำงาน (Man-week) เพื่อให้นักศึกษามีสมรรถนะพร้อมสู่โลกแห่งการทำงานจริงได้ทันทีหลังสำเร็จการศึกษา (Ready to Work) โดยความร่วมมือระหว่างสถาบันอุดมศึกษาฝ่ายผลิต (Supply Side) และสถานประกอบการฝ่ายผู้ใช้บัณฑิต (Demand Side) (University-Workplace Engagement) โดยหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อน CWIE คือ การร่วมออกแบบ (Co-design) หลักสูตรการเรียนการสอนและระบบบริหารจัดการความร่วมมือระหว่างสถาบันอุดมศึกษาและสถานประกอบการ รับผิดชอบโครงการโดยสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.)
2. โครงการการบูรณาการการเรียนรู้กับการทำงาน (Work-integrated Learning; WiL)
การพัฒนากำลังคนร่วมกันระหว่างภาคการศึกษาและภาคอุตสาหกรรม ในหลักสูตรอาชีวศึกษาหรือปริญญาตรี โดยนักศึกษาจะปฏิบัติงานในตำแหน่งงานเสมือนเป็นพนักงานในสถานประกอบการเป็นระยะเวลา 2 ปี ควบคู่กับการเรียนตามหลักสูตรในช่วงเวลาหลังเลิกงานหรือวันหยุดจากการทำงานในสถานที่ที่สถานประกอบการจัดเตรียมให้ สำหรับสถานประกอบการที่มีความต้องการกำลังคนระดับปฏิบัติงานอย่างเร่งด่วน และร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนากำลังคนให้มีสมรรถนะตรงตามความต้องการของตลาดแรงงาน เพื่อสร้างประสบการณ์ในการทำงานให้แก่นักศึกษา และมีความพร้อมในการปฏิบัติงานเมื่อสำเร็จการศึกษา โดยสถานประกอบการจัดให้มีผู้บังคับบัญชาที่มีประสบการณ์ในการดูแล ติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานของนักศึกษา และมีการจ่ายค่าตอบแทนการปฏิบัติงานและสวัสดิการให้แก่นักศึกษา
3. โครงการเครือข่ายการอุดมศึกษาเพื่ออุตสาหกรรม (Higher Education for Industry Consortium; Hi-FI Consortium)
การพัฒนาเครือข่ายมหาวิทยาลัยที่มีความสามารถในการสร้างกำลังคนระดับปริญญาโท ร่วมกับภาคอุตสาหกรรมผ่านการพัฒนานวัตกรรมในสถานประกอบการตามโจทย์ความต้องการของภาคเอกชน ด้วยการใช้โจทย์ทางธุรกิจเพื่อการวิจัยพัฒนาสินค้าและบริการให้เป็นเป้าหมายร่วมเพื่อดำเนินงานของอุตสาหกรรมและสถานศึกษา (Demand driven) เป็นการผลิตและพัฒนากำลังคนในระดับบัณฑิตศึกษาร่วมกับอุตสาหกรรมผ่านการจัดการศึกษาแบบเฉพาะสำหรับบริษัท (Tailor Made) โดยนักศึกษาปฏิบัติงานควบคู่กับการวิจัยในสถานประกอบการตามโจทย์วิจัยที่ได้รับมอบหมายภายใต้การดูแลของอาจารย์ที่ปรึกษาที่มีความเชี่ยวชาญในระยะเวลา 2 ปี ซึ่งสามารถรองรับความต้องการที่หลากหลายของอุตสาหกรรมด้วยสหวิทยาการ (Multidisciplinary) ภายใต้แพลตฟอร์มการทำงานร่วมกันของเครือข่ายมหาวิทยาลัย
4. โครงการสร้างขีดความสามารถในการทำนวัตกรรมของภาคอุตสาหกรรมเพื่อยกระดับความสามารถการแข่งขันของประเทศโดยการพัฒนากำลังคนระดับสูง (Total Innovation Management Enterprise; TIME)
การยกระดับขีดความสามารถของผู้ประกอบการที่มุ่งเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าและบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดทั้งในปัจจุบันและอนาคตโดยพัฒนาองค์ความรู้ด้านการจัดการนวัตกรรมสำหรับอุตสาหกรรมให้แก่บุคลากรในองค์กรเพื่อหาแนวทางการปรับปรุงและพัฒนากระบวนการทางอุตสาหกรรมให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ดำเนินการผ่านการจัดการศึกษาระดับปริญญาโท ซึ่งนักศึกษาจะวิเคราะห์ช่องว่าง และโอกาสในการพัฒนาสถานประกอบการ แล้วนำมาศึกษาวิจัยผ่านการทำวิทยานิพนธ์โดยมีผู้เชี่ยวชาญอุตสาหกรรมและหัวหน้างานให้คำปรึกษาเป็นระยะเวลา 2 ปี สำหรับสถานประกอบการขนาดกลางที่กำลังจะเปลี่ยนเป็นขนาดใหญ่ ต้องการพัฒนาผลิตภัณฑ์เป็นของตนเอง หรือต้องการสร้างมาตรฐานในกระบวนการทางอุตสาหกรรม
5. การจัดการศึกษาที่แตกต่างไปจากมาตรฐานการอุดมศึกษา (Higher Education Sandbox)
การจัดการศึกษาเพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนเฉพาะทางระดับปริญญาตรี ที่ไม่สามารถดำเนินการภายใต้มาตรฐานการอุดมศึกษาในปัจจุบันได้ หรือยังไม่มีมาตรฐานการอุดมศึกษามารองรับ เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมได้รับกำลังคนเฉพาะทางที่มีสมรรถนะตรงตามความต้องการ โดยเงื่อนไขในการดำเนินงาน เป็นไปตามข้อตกลงความร่วมมือระหว่างสถานประกอบการกับสถาบันอุดมศึกษา เช่น การร่วมลงทุนจัดการศึกษา การรับนักศึกษาเป็นพนักงานในช่วงระหว่างจัดการศึกษา เป็นต้น
6. โครงการส่งเสริมให้บุคลากรวิจัยในสถาบันอุดมศึกษาไปปฏิบัติงานเพื่อแก้ไขปัญหา และเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตให้กับภาคอุตสาหกรรม (Talent Mobility; TM)
การส่งเสริมและสนับสนุนให้อาจารย์และนักวิจัยจากสถาบันอุดมศึกษาเคลื่อนย้ายไปปฏิบัติงานชั่วคราวในภาคเอกชนเพื่อยกระดับขีดความสามารถด้านการวิจัยและพัฒนาของภาคเอกชนและสร้างความร่วมมือระหว่างสถาบันอุดมศึกษาและภาคเอกชน
สถานประกอบการที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่ STEM One-Stop Service Email: stemplatform@nxpo.or.th
เว็บไซต์ มีการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็มไซต์ (Cookies) เพื่อพัฒมาประสบการณ์ของผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่