SEARCH

ข่าวประชาสัมพันธ์

อว. ประสานความร่วมมือ บีโอไอ – สถาบันอุดมศึกษา พัฒนาแพลตฟอร์มผลิตกำลังคนนักวิทย์-วิศวกร ตอบโจทย์ความต้องการภาคเอกชนและการลงทุนในอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ไทย

26 ตุลาคม 2564 1,554

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานปลัด อว.  สำนักงาน        สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) สภาคณบดีวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย และสภาคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “โครงการระบบพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงเพื่อรองรับการลงทุนในอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ของประเทศไทย” โดยได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. อเนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.อว. แถลงนโยบายในประเด็น “นโยบายพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงเพื่อรองรับการลงทุนในอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ของประเทศไทย”

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. เอนก เผยว่า รู้สึกเป็นเกียรติและมีความยินดีที่ได้มีโอกาสมาร่วมเป็นสักขีพยานในโครงการพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อผลิตวิศวกรและนักวิทยาศาสตร์ที่มีสมรรถนะสูง ซึ่งในการเข้ามาช่วยงานอุตสาหกรรมที่เป็นยุทธศาสตร์ของประเทศ กระทรวง อว. เองอยากทำอะไรที่ตอบสนองภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะเชิงยุทธศาสตร์ให้มากที่สุด ซึ่งที่ผ่านมาเราทำด้าน Supply ด้านการให้ความรู้เป็นหลัก แต่โลกทุกวันนี้มีการพลิกโฉมเปลี่ยนแปลงไป เราจึงอยากขับเคลื่อนกระทรวงของเราจากทางด้าน Demand มากขึ้น ซึ่งการร่วมมือขับเคลื่อนทั้งกับ BOI และภาคธุรกิจในอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ จะเป็นกลไกสำคัญที่จะขยับประเทศไทยให้เป็นประเทศที่พัฒนาแล้วได้ ตามแผนยุทธศาสตร์ประเทศที่กำหนดให้เห็นผลชัดเจนภายในปี 2580 หรืออีก 16 ปีข้างหน้า

“เราจะไม่ทำอะไรไปเรื่อย ๆ แต่เราต้องมีหลักชัยที่ปักไว้แล้วไปคว้าให้ได้ โดยกระทรวง อว. มีหลักชัย มีเป้าหมายว่าเราต้องไปถึงประเทศที่การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) พัฒนาแล้วในอีก 10 ปีข้างหน้า อววน. ต้องเข้ามาเป็นเครื่องมือสำคัญของรัฐและสังคม ในการช่วยขยับประเทศไทยไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้วให้ได้ การจัดโครงการนี้เหมือนเป็นโบนัส มีงานให้ 20,000 งานและเป็นการผลิตกำลังคนตอบโจทย์สำหรับธุรกิจโดยเฉพาะ เรามีเครื่องมือหนึ่งที่เรียกว่า Sandbox ด้านการอุดมศึกษา ที่จะสามารถปลดล็อกอะไรที่ติดขัด เป็นข้อจำกัด แล้วสังเกตดูว่าเรื่องที่ปลดล็อกทำให้ดีขึ้นหรือไม่ ถ้าดีก็อาจจะถูกผลักดันเป็นมาตรฐานทั่วไป การศึกษายุคใหม่ อย่าปล่อยให้เป็นหน้าที่อาจารย์ นักวิจัยอย่างเดียว ลูกศิษย์ที่จบไปต้องมีงานทำและเป็น lifelong learner เรียนจบแล้วเอาไปปฏิบัติได้ หรือในอนาคตต้องผลิตคนที่ออกไปแล้วทำงานได้เลยแบบ tailor-made” ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. อเนก กล่าว

หลังพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ยังได้มีการจัดเวทีเสวนาในหัวข้อ “อุดมศึกษากับการพัฒนากำลังคนเพื่อสนับสนุนการลงทุน” โดย ดร. กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. ได้ร่วมแลกเปลี่ยนในประเด็น “นโยบายและทิศทางการพัฒนากำลังคนในอนาคตเพื่อรองรับการลงทุนในอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ของประเทศไทยกับการสนับสนุนการพัฒนานโยบายด้านกำลังคน” โดยได้กล่าวว่า สอวช. ได้ศึกษาเกี่ยวกับการพัฒนากำลังคนในอนาคตข้างหน้าที่จะมีจุดเน้นเพื่อตอบสนองความต้องการของประเทศ ซึ่งขณะนี้ อว. มีมาตรการหลายอย่างที่สร้างคนและหลายมาตรการก็ตรงกับความต้องการของภาคเอกชน โดยเราได้ทำการวิจัยรูปแบบและนโยบายการพัฒนากำลังคนว่ามีแนวโน้มจะเปลี่ยนไปใน 9 ทิศทาง คือ
1) การพัฒนาคนจะค่อยๆ เปลี่ยนจากการพัฒนาฝั่ง Supply Side ไปสู่ระบบการทำงานใหม่ที่เป็น Co-Creation ที่ผู้ผลิตคนและผู้ใช้ประโยชน์มาร่วมกันจัดตั้งแพลตฟอร์ม และร่วมพัฒนาคน ทั้งในเชิงการทำงานและการลงทุนร่วมกัน
2) สมัยก่อนคนมาศึกษาเพื่อให้ได้ปริญญาบัตรไป แต่ในอนาคตจะเริ่มมองถึงเรื่องการมีงานทำ การมีอาชีพ เปลี่ยนจาก Degree-based เป็น Ability Oriented
3) ระบบการสร้างคน จะเปลี่ยนจากการผลิตแบบ Content-Based เน้นเรียนเนื้อหา เป็น Competency-Based เน้นไปที่ความสามารถ ไม่ใช่เรียนเพื่อรู้เท่านั้น แต่เรียนเพื่อทำได้ด้วย
4) เมื่อก่อนเราใช้ชีวิตแบบ เกิดมา เรียนหนังสือ ทำงาน เกษียณ แต่อนาคตการศึกษาจะตอบโจทย์เรื่อง Multi-stage Life ชีวิตหลากหลายขั้นมากขึ้น วงจรของการศึกษาเปลี่ยนไป แทนที่จะผลิตเด็กตามเวลา 4 ปี ก็จะดูแลประชากรในวัยทำงาน วัยเกษียณด้วย
5) การปรับจาก Individual Institution มาเป็นระบบการทำ Credit Bank มากขึ้น ซึ่งหลายมหาวิทยาลัยเริ่มทำแล้วในตอนนี้ และในอนาคตก็จะมี National Credit Bank เกิดขึ้นด้วย
6) เรื่องของการ Reach access/Open access เปิดให้คนทั่วไปเข้ามาดูว่ามหาวิทยาลัยทำอะไรอยู่บ้าง และเข้ามามีส่วนร่วมกับทุกขั้นตอนของมหาวิทยาลัย
7) เปลี่ยนจาก Local perspective ไปสู่ Global มากขึ้น การสร้างเมืองให้เป็นศูนย์กลางทางการศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพไปสู่ระดับสากล
8) เปลี่ยนจากการกระจุกไปสู่การกระจายโอกาส ในการเข้าถึงการอุดมศึกษาได้มากขึ้นด้วยต้นทุนที่ต่ำลง
9) ระบบการเงิน (Finance) ของมหาวิทยาลัยในอนาคต กำลังมีการพูดคุยกันค่อนข้างมาก จากที่เป็นการจัดสรรเงินอุดหนุนผ่านด้านอุปทาน (Supply Side Financing) ตามจำนวนของเด็กในมหาวิทยาลัย จะเปลี่ยนไปสู่การดูว่าในอนาคตมหาวิทยาลัยจะผลิตคนเพื่อตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจได้อย่างไร เรียกว่าเป็น Demand Directed Financing คือการใช้ความต้องการมากำหนดการให้เงินสนับสนุน โดยทั้ง 9 ทิศทางข้างต้นเป็นเทรนด์สำคัญที่ สอวช. กำลังทำงานในส่วนนี้ เพื่อให้สุดท้ายออกมาเป็นนโยบายที่จะขับเคลื่อนผลักดันตามแนวทางได้ต่อไป

นอกจากนี้ ในเวทีเสวนายังได้รับเกียรติจากผู้ร่วมเสวนาอีกหลายท่านที่ได้มาแลกเปลี่ยนในประเด็นที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวง อว. ได้กล่าวถึงนโยบายของกระทรวง ตามที่มีการกำหนดปรัชญาอุดมศึกษาใหม่ มีใจความสำคัญคือการพัฒนาคนแบบ Lifelong Learning การพัฒนาสมรรถนะของคน รวมถึงการพัฒนากำลังคนร่วมกับภาคส่วนอื่น ๆ ซึ่งในปัจจุบันกระทรวงมีความพยายามที่จะพัฒนาหลักสูตรเพื่อตอบโจทย์ดังกล่าวด้วย เช่น โครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย (Reinventing University) ด้านนางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการ BOI กล่าวถึงปัจจัยด้านกำลังคนที่ส่งผลต่อการดึงดูดนักลงทุน ความเร่งด่วนในการผลิตและพัฒนากำลังคน อาทิ ช่างเทคนิค นักวิทยาศาสตร์ วิศวกร หรือนักวิจัย รวมถึงสิทธิประโยชน์จาก BOI เช่น มาตรการสนับสนุนการจัดตั้งสถาบันเพื่อพัฒนาบุคลากรทักษะสูงโดยภาคอุตสาหกรรม, เงินสนับสนุนการฝึกอบรม Advanced Technology Training เป็นต้น

ด้านสภาคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทยและสภาคณบดีวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ที่ผลิตบัณฑิตปริญญาตรีในสายงานวิศวกรรมศาสตร์และสายวิทยาศาสตร์ สายงานละกว่า 3 หมื่นคนต่อปี มองว่ามหาวิทยาลัยแต่ละแห่งมีความเชี่ยวชาญในการเรียนการสอนในบริบทที่ต่างกัน โดยมีความมุ่งหวังว่าความร่วมมือที่เกิดขึ้นในครั้งนี้จะนำไปสู่การพัฒนาหลักสูตรและความร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อตอบโจทย์การผลิตกำลังคนสู่ภาคอุตสาหกรรมได้ในอนาคต

ดร. สัมพันธ์ ศิลปนาฎ ประธานความร่วมมือสหกิจศึกษาโลก (WACE) และรองประธานฯ ฝ่ายปฏิบัติการฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ บริษัท เวสเทิร์น ดิจิตอล สตอเรจ เทคโนโลยีส์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้แลกเปลี่ยนถึงหัวใจสำคัญของภาคการศึกษา ว่าต้องอาศัยความร่วมมือทั้งภาครัฐและเอกชน แบบ Co-creation ฝั่งผู้ใช้ที่มีความต้องการต้องเข้ามาร่วมกับฝ่ายผลิตที่เป็นสถาบันการศึกษาตั้งแต่ต้น ซึ่งการเรียนแบบ Co-creation นับเป็นการใช้ความรู้แบบขาออกด้วย คือ การนำเอาความรู้ ทักษะที่มีไปใช้ในการทำงานจริง

ด้าน รศ. ดร. จิรารัตน์ อนันตกูล หัวหน้าศูนย์ประสานงานและบริการเบ็ดเสร็จ (STEM One-Stop Service) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวถึงบทบาทของศูนย์ประสานงานฯ ที่จะเข้ามาเป็นจุดเชื่อมโยง ช่วยเหลือด้านการจัดหา ผลิต และพัฒนากำลังคนให้กับผู้ประกอบการ มีบทบาทหน้าที่ในการประสานงาน เชื่อมโยงฝั่ง Demand และฝั่ง Supply วิเคราะห์ความต้องการ และบริหารจัดการข้อมูล ที่ให้ภาคเอกชนสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ด้วย โดยโปรแกรมที่ศูนย์ประสานงานฯ จะช่วยเชื่อมโยงให้เกิดขึ้นได้ ได้แก่ Job Positioning, Reskill/Upskill ให้แก่บุคลากรขององค์กร, Co-Creation รวมถึงการจัดตั้งศูนย์ Industrial Training Center (ITC)

----------------------------------------

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม : สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.)
โทรศัพท์ 02 109 5432 ต่อ 730
มือถือ 08-0441-5450 (วรรณพร) 06-4474-1696 (กชวรรณ)
Email: pr@nxpo.or.th / Website: www.nxpo.or.th / Facebook: https://www.facebook.com/NXPOTHAILAND/

เว็บไซต์ มีการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็มไซต์ (Cookies) เพื่อพัฒมาประสบการณ์ของผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่