SEARCH

ข่าวประชาสัมพันธ์

การเตรียมความพร้อมของภาคเอกชน ภาครัฐ และสถาบันอุดมศึกษา รองรับทักษะแห่งอนาคตของแรงงานไทย

21 ตุลาคม 2564 783

สอวช. ได้กล่าวถึงทักษะมนุษย์-แรงงานที่จำเป็นสำหรับประเทศไทยในโลกหลังโควิด-19 ไปก่อนหน้านี้ และแน่นอนว่าประเทศไทยก็จะต้องมีแนวทางการเตรียมความพร้อมไปสู่การเปลี่ยนแปลง รองรับทักษะแห่งอนาคตเหล่านั้นสำหรับกลุ่มแรงงาน ซึ่งการเตรียมความพร้อมนั้นแบ่งได้เป็นทั้งในภาคเอกชน ภาครัฐ และสถาบันอุดมศึกษา

การเตรียมความพร้อมของภาคเอกชน ในฐานะผู้ที่ได้ประโยชน์จากการมีกำลังแรงงาน ควรส่งเสริมงานที่ใช้ประโยชน์กำลังคนแรงงานทักษะสูง หรือเพิ่มการจ้างงานที่ส่งเสริมศักยภาพ (productive employment) รวมถึงควรมีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนากำลังคนในรูปแบบต่างๆ เช่น การให้ข้อมูลความต้องการกำลังคนแก่ผู้กำหนดนโยบาย การร่วมออกแบบหลักสูตร การแบ่งปันเครื่องมือหรืออุปกรณ์หรือพื้นที่สำหรับการฝึกอบรม (workplace learning) หรือการร่วมจัดการศึกษาและฝึกอบรม เป็นต้น

ในปัจจุบันภาคเอกชนหลายแห่งได้เริ่มจัดการศึกษาแบบ Corporate College เป็นการเรียนการสอนในรูปแบบทวิภาคีระหว่างสถานศึกษาและสถานประกอบการ เน้นการเรียนรู้ภาคทฤษฎีควบคู่ไปกับภาคปฏิบัติในสถานประกอบการตลอดหลักสูตร รวมถึงการฝึกอบรมเพื่อให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลตรงตามความต้องการของภาคธุรกิจ โดยนักศึกษาที่มีความสนใจสามารถศึกษาต่อในระดับปริญญาโทที่สถาบันเทคโนโลยีปัญญาภิวัตน์ได้

ด้านบทบาทของภาครัฐกับการลงทุนในการสร้างทักษะแห่งอนาคต หน่วยงานภาครัฐควรปรับบทบาทเป็นผู้อำนวยความสะดวก ส่งเสริมระบบนิเวศการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยจัดทำมาตรการส่งเสริมในรูปแบบต่าง ๆ และควรมุ่งเน้นการกระจายอำนาจ เพื่อส่งเสริมให้ผู้เล่นที่อยู่ในส่วนภูมิภาคหรือท้องถิ่นมีอิสระและความคล่องตัวในการจัดเรียนรู้ให้ตรงความต้องการของกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่มากขึ้น รวมถึงควรส่งเสริมการสร้างประสิทธิภาพของกลไกตลาด ในการผลักดันการเรียนรู้ตลอดชีวิตมากขึ้น

ในระดับอุดมศึกษา ควรมุ่งเน้นการสนับสนุนการจัดการศึกษาฐานสมรรถนะที่มีการบูรณาการความรู้และทักษะจากการฝึกปฏิบัติจริง โดยสถาบันอุดมศึกษาต้องพัฒนาหลักสูตรฐานสมรรถนะ และส่งเสริมการจัดการศึกษาที่บูรณาการร่วมกับการทำงาน เพื่อให้นักศึกษาได้รับความรู้และทักษะจากการฝึกปฏิบัติในสภาพแวดล้อมของภาคธุรกิจจริง เช่น การฝึกงานระยะสั้น การบูรณาการการเรียนรู้กับการทำงาน (Work-integrated Learning, WiL) สหกิจศึกษา ซึ่งจะนำไปสู่การผลิตบัณฑิตที่มีทักษะที่ตอบโจทย์การทำงานหรือการเป็นผู้ประกอบการ สามารถตอบสนองความต้องการของภาคผู้ใช้บัณฑิตได้มากขึ้น สามารถแข่งขันในตลาดงาน และมีภูมิคุ้มกันต่อภาวะวิกฤต มีการเชื่อมโยงระหว่างสถาบันการศึกษา ภาคอุตสาหกรรม และรัฐบาลในการจัดการศึกษา ส่งต่อข้อมูลความต้องการด้านทักษะที่ตอบโจทย์สถานประกอบการสู่สถาบันอุดมศึกษา  รวมถึงส่งเสริมให้ภาคเอกชนร่วมจัดการศึกษาโดยการจัดทำมาตรการจูงใจและสิทธิประโยชน์สำหรับสถานประกอบการที่ร่วมลงทุน/ร่วมจัดการศึกษา

ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบแนะแนวเพื่อส่งเสริมการค้นหาตนเอง และการสร้างแรงบันดาลใจในการเรียน สร้าง growth mindset และการเป็นผู้เรียนรู้แบบนำตนเอง (self-directed learner) เพื่อให้เด็กสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองให้ตอบโจทย์สถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต มีการสนับสนุนทางการศึกษาที่ตรงตามความถนัดและความสนใจของเด็กแต่ละบุคคล บนความเชื่อว่าเด็กทุกคนมีศักยภาพที่แตกต่างกัน มีความต้องการและความถนัดที่แตกต่างกัน เปิดโอกาสให้เด็กได้เรียนรู้ในสิ่งที่สนใจ ซึ่งจะนำไปสู่การเกิดแรงบันดาลใจ เห็นคุณค่าในตนเอง มีความพยายามเพื่อไปถึงจุดมุ่งหมาย และสามารถต่อยอดเป็นการพัฒนาศักยภาพตนเองอย่างไม่มีขีดจำกัด

สำหรับกลุ่มแรงงาน ทั้งในระบบและนอกระบบ การพัฒนากำลังแรงงานควรมุ่งเน้นการเข้าถึงแรงงานให้ครอบคลุมทุกกลุ่ม และส่งเสริมการพัฒนาใน 3 ด้าน ดังนี้

1) ด้านการส่งเสริมและจูงใจในการพัฒนาทักษะแรงงาน มุ่งเน้นมาตรการส่งเสริมทางการเงินโดยตรงไปที่ตัวบุคคลและการสร้างแรงจูงใจให้เห็นความสำคัญของการพัฒนาทักษะผ่านการให้ข้อมูลเชิงรุกไปยังกลุ่มเป้าหมาย
2) ด้านระบบนิเวศการพัฒนาทักษะแรงงาน เช่น พัฒนาระบบธนาคารหน่วยกิตแห่งชาติ (National Credit Bank) การพัฒนาหลักสูตรระยะสั้น (Non-degree) การพัฒนาแพลตฟอร์มที่ให้บริการด้านการพัฒนาทักษะและเชื่อมโยงกับการจ้างงานแบบครบวงจร
3) ด้านการพัฒนากำลังแรงงานเฉพาะกลุ่ม อาทิ การส่งเสริมทางการเงินและยกระดับสวัสดิภาพด้วยการจัดทำแพ็คเกจสวัสดิการที่หลากหลายเพื่อสนับสนุนการพัฒนาทักษะสำหรับกลุ่มแรงงานนอกระบบและกลุ่มเปราะบาง การส่งเสริมพื้นที่เรียนรู้สาธารณะ กระตุ้นการเรียนรู้แบบสหวิทยาการ สนับสนุนให้เกิดการแข่งขันของแพลตฟอร์มให้บริการหางานเพื่อให้ต้นทุนการใช้งานแพลตฟอร์มที่ผู้หางานต้องแบกรับลดลงสำหรับกลุ่ม Gig Workers ทักษะสูง

ในกลุ่มแรงงานสูงอายุ ควรส่งเสริมให้ประชากรไทยเป็น active and productive ageing ส่งเสริมการเรียนรู้ทั้งเพื่อการประกอบอาชีพ การใช้ชีวิต และการเข้าสังคมให้กับผู้สูงอายุ เพื่อให้ผู้สูงอายุมีความรู้ในการดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุข และสามารถทำประโยชน์ให้สังคมและเศรษฐกิจได้ นอกจากนี้ควรมีการเตรียมความพร้อมให้กับผู้สูงอายุและผู้ที่กำลังจะเข้าสู่วัยสูงอายุ มุ่งเน้นการเพิ่มทักษะหรือการเปลี่ยนทักษะ (upskill/reskill) เตรียมพร้อมทำงานในวัยสูงอายุให้กับคนในวัยก่อนเกษียณ รวมถึงการให้ความรู้ที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตในวัยสูงอายุ เช่น การดูแลสุขภาพ การออม โดยสถาบันอุดมศึกษา หน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และภาคเอกชนมีส่วนร่วมพัฒนาทักษะให้กับคนกลุ่มดังกล่าว ส่งเสริมให้เกิดโรงเรียนผู้สูงอายุรูปแบบใหม่ ส่งเสริมให้เกิดแพลตฟอร์มที่รวบรวมวิชาเรียนที่ผู้สูงอายุสามารถเข้าถึงได้ง่าย

ตัวอย่างการดำเนินงานด้านการพัฒนากำลังคนของภาครัฐ เช่น โครงการบัณฑิตพันธุ์ใหม่ เป็นโครงการที่จัดโดยกระทรวง อว. มีเป้าหมายในการสร้างบัณฑิตและกำลังคนที่มีสมรรถนะและศักยภาพสูงสำหรับการทำงานในอุตสาหกรรมอนาคตของประเทศไทย (New S-Curve) ที่เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ผ่านการทำงานร่วมกันระหว่างภาคการศึกษาและภาคอุตสาหกรรมที่มีความพร้อม เพื่อสร้างประสบการณ์การปฏิบัติงานในสภาพจริงให้กับนักศึกษาและแรงงานลูกจ้าง เน้นการบูรณาการศาสตร์หลากหลายศาสตร์ ที่ครอบคลุมทั้งทักษะชีวิตของสังคมดิจิทัลและทักษาะวิชาชีพเข้ากับหมวดวิชาศึกษาทั่วไป ผ่านหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอนที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการและการพัฒนาทักษะการเรียนรู้รายบุคคล โดยมีลักษณะหน่วยแยกเชิงผลลัพธ์การเรียนรู้และผลการเรียน เพื่อเพิ่มความคล่องแคล่วของการปรับตัวของหลักสูตรการเรียนการสอนต่อการเปลี่ยนแปลงของภาคการผลิต

อีกหนึ่งตัวอย่างคือ Generation Model เป็นโมเดลการฝึกอบรมแบบเข้มข้น ผ่านรูปแบบของหลักสูตรระยะสั้น ที่มีการเชื่อมโยงฝั่งอุปทานของการศึกษา เช่น โรงเรียนมัธยม สถาบันโพลีเทคนิค และมหาวิทยาลัย กับภาคเอกชนและอุตสาหกรรมโดยตรง โดยมีจุดประสงค์หลักในการส่งเสริมการพัฒนาทักษะเฉพาะทางและทักษะในการหางาน เช่น การฝึกการสัมภาษณ์งานที่เสมือนจริง และกลุ่มเป้าหมายหลักเป็นผู้สำเร็จการศึกษาที่ต้องการหางานทำ ซึ่งหลังจากการเข้าร่วมฝึกอบรมแล้ว สมาชิกในโครงการจะมีเส้นทางอาชีพที่ชัดเจนมากขึ้น เนื่องจากมูลนิธิ Generation มีเครือข่ายความร่วมมือกับภาคธุรกิจเพื่อวิเคราะห์ความต้องการด้านทักษะอาชีพโดยเฉพาะ และมีการจับคู่ตำแหน่งงานในสถานประกอบการกับผู้ผ่านการฝึกอบรมอีกด้วย นอกจากนี้แล้ว มูลนิธิ Generation ยังมีการพัฒนาศักยภาพให้กับทั้งวิทยากรผู้สอนและเจ้าหน้าที่สนับสนุนอยู่ตลอดเวลา รวมถึงการจัดทำ End-to-End Technology Platform เพื่อการฝึกอบรมในรุ่นต่อ ๆ ไปด้วย

สำหรับบทบาทของ สอวช. ได้สนับสนุนริเริ่มให้เกิดแนวทางด้านนโยบาย รวมถึงโครงการหลายโครงการที่เข้าไปเป็นฐานในการเสริมทักษะที่จำเป็นในอนาคตให้กับประชาชน อีกทั้งยังส่งเสริมรูปแบบการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้เข้ากับการที่ประชาชนมีวิถีแบบหลายช่วง อีกส่วนที่สำคัญคือการสนับสนุนภาคการศึกษา โดยเฉพาะระดับอุดมศึกษาให้สามารถผลิตกำลังคนที่มีศักยภาพตอบสนองความต้องการของประเทศและภาคอุตสาหกรรมทั้งในปัจจุบันและในอนาคตได้ ผู้ที่สนใจสามารถอ่านบทความเรื่อง ทักษะมนุษย์-แรงงานที่จำเป็นสำหรับประเทศไทยในโลกหลังโควิด-19 ได้ที่ https://www.nxpo.or.th/th/9115/

ที่มาของข้อมูล : รายงานการศึกษา เรื่อง การส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong learning) เพื่อรองรับการพลิกโฉมฉับพลันและวิกฤตการณ์โลก รัฐมนตรี ฯ อเนก นำทีมผู้บริหาร อว. ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโครงการบัณฑิตพันธุ์ใหม่ฯ จังหวัดน่าน”, กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (2020) https://www.mhesi.go.th/index.php/en/pr-executive-news/2823-2020-12-03-14-40-43.html https://www.generation.org/ (PDF)

เว็บไซต์ มีการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็มไซต์ (Cookies) เพื่อพัฒมาประสบการณ์ของผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่