“สอวช.” โชว์ความสำเร็จ “แพลตฟอร์ม STEMPlus” มีผู้ผ่านการอบรมหลักสูตร “พัฒนากำลังคนสมรรถนะสูง” ทะลุ 50,000 ราย ตั้งเป้า 100,000 ราย ในปี 2567 พร้อมเดินหน้าสร้างคนรองรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต
8 กันยายน 2566
651
เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2566 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และกรมสรรพากร จัดงาน “STEMPlus พัฒนาคน เสริมทัพอุตสาหกรรมไทย” ณ มิตรทาวน์ ฮอลล์ 1 ชั้น 5 สามย่านมิตรทาวน์ กรุงเทพ
ทั้งนี้ ภายในงานได้จัดให้มีการเสวนาเรื่อง “การพัฒนากำลังคนเพื่อสร้างความสามารถการแข่งขันด้วยวิทยาการขั้นสูง” โดย ศาสตราจารย์ ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวง อว. กล่าวว่า สำนักงานปลัดกระทรวง อว. และ สอวช. ได้ร่วมกันขับเคลื่อนการจัดทำหลักสูตรการจัดการศึกษาที่แตกต่างไปจากมาตรฐานการอุดมศึกษา (Higher Education Sandbox) หรือหลักสูตรแซนบ็อกซ์ เพื่อผลิตกำลังคนสมรรถนะสูง ดึงการลงทุนเข้ามาจากต่างประเทศ กว่า 1 ปีที่ผ่านมา ล่าสุดเรามีหลักสูตรที่ผ่านการอนุมัติแล้ว 11 หลักสูตร เพื่อให้สามารถผลิตกำลังคนสมรรถนะสูงตอบโจทย์ความต้องการของประเทศได้อย่างเร่งด่วน
ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์โลกเปลี่ยนไป ทุกประเทศต้องปรับตัว ประเทศไทยเองก็เช่นกัน มีการปรับตัวในหลายภาคส่วน โดยเฉพาะในภาคการศึกษา ซึ่งเป็นต้นทางของสร้างคนตอบโจทย์ตลาดแรงงานและความต้องการของประเทศรองรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เช่น อุตสาหกรรม EV อิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง เทคโนโลยีชีวภาพการแพทย์ เกษตรอัจฉริยะ อาหารมูลค่าสูง เทคโนโลยีด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ฯลฯ ดังนั้นจึงต้องมีแพลตฟอร์มใหม่ ๆ เพื่อช่วยให้นักศึกษาหรือคนทำงานมีโอกาสและความเท่าเทียมกันในการพัฒนาศักยภาพทางอาชีพอย่างทั่วถึง ขณะเดียวกันผู้ประกอบการเองก็จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษี จากการส่งบุคลากรเข้ารับการฝึกอบรม
ดร.กิติพงค์ กล่าวว่า สอวช. ได้จัดทำแพลตฟอร์มพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูง ส่งเสริมการปรับทักษะ ยกระดับทักษะ (Reskill Upskill) และจับคู่กำลังคนสู่การทำงานและประกอบอาชีพ คือ STEMPlus (www.stemplus.or.th) ที่มีบริการให้ผู้ประกอบการที่ประกอบกิจการและจ้างงานในตำแหน่งที่สอดคล้องกับกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ใช้ทักษะสูงด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ หรือคณิตศาสตร์ (สะเต็ม) ที่ได้จ้างพนักงานใหม่ สามารถนำค่าใช้จ่ายที่เป็นเงินเดือนพนักงานไปขอยกเว้นภาษีเงินได้จากกรมสรรพากรได้ 150% นอกจากนี้ ผู้ประกอบการที่ส่งลูกจ้างเข้ารับการฝึกอบรมในหลักสูตรที่ได้รับการรับรองตามมาตรการ Thailand Plus Package ยังได้รับสิทธิประโยชน์ในการนำค่าใช้จ่ายในการอบรมไปหักภาษีได้ 250%
“แพลตฟอร์มพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงดังกล่าวนั้น สอวช. ได้รับรางวัลเลิศรัฐ ประเภทบริการตอบโจทย์ตรงใจ ประจำปี 2566 จากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) โดย สอวช.จะเข้ารับรางวัลในวันที่ 7 กันยายน นับเป็นความภาคภูมิใจของพวกเราอย่างยิ่ง” ผอ.สอวช. กล่าว
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการบีโอไอ กล่าวว่า ทิศทางการลงทุนในประเทศไทยในอีก 4 – 5 ปีข้างหน้า จะมีการลงทุนในอุตสาหกรรมแนวใหม่มากขึ้น และจะมีคลื่นการลงทุนลูกใหญ่เข้ามาในประเทศไทยเนื่องจากในภูมิภาคอาเซียนประเทศไทยมีความโดดเด่นที่สุด ส่งผลให้การลงทุนเติบโตอย่างรวดเร็ว ตัวเลขครึ่งปีแรกเพิ่มขึ้นถึง 70% มูลค่าเงินลงทุนมากกว่า 360,000 ล้านบาท นอกจากนี้ทิศทางการลงทุนด้านอิเล็กทรอนิกส์ มีโครงการที่ย้ายฐานเข้ามาในประเทศไทย 100 กว่าโครงการ มีเงินลงทุน 16,000 ล้านบาท มากกว่าในช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อนถึง 7 เท่า
นางสาวเสาวคนธ์ มีแสง ผู้อำนวยการกองวิชาการแผนภาษี กรมสรรพากร กล่าวว่า การพัฒนาประเทศโจทย์ที่ใหญ่ที่สุดคือเรื่องคน กรมสรรพากร ได้ออกมาตรการทางภาษีเพื่อเป็นทางลัดไปสู่เป้าหมายพัฒนากำลังคนตอบโจทย์อุตสาหกรรมแห่งอนาคตอย่างเร่งด่วน รวมถึงออกมาตรการ LTR Visa ดึงดูดกำลังคนสมรรถนะสูงจากต่างประเทศเข้ามาในไทย โดยอำนวยความสะดวกในการออกวีซ่าและเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในอัตรา 17%
ด้าน ผศ.ดร.พูลศักดิ์ โกษียาภรณ์ รองผู้อำนวยการ สอวช. กล่าวเพิ่มเติมว่า บริการใน STEMPlus ตอบโจทย์ 3 กลุ่ม สำคัญ ได้แก่ กลุ่มที่ 1 ผู้ประกอบการ สามารถนำค่าใช้จ่ายในการจ้างงานบุคลากร STEM ในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ผ่านการรับรองไปขอลดหย่อนภาษีได้ 150% ซึ่งปัจจุบันมีการขอรับรองการจ้างงานแล้ว 4,446 ตำแหน่งงาน จาก 105 บริษัท อีกทั้งส่งบุคลากรเข้ารับฝึกอบรมในหลักสูตรที่ผ่านการรับรองจาก อว. สามารถขอลดหย่อนภาษีได้ 250% ซึ่ง STEMPlus ได้รวบรวมรายชื่อหลักสูตร จำนวน 691 หลักสูตร จาก 70 หน่วยฝึกอบรม ซึ่งมีผู้เข้ารับการฝึกอบรมแล้ว 55,130 คน โดยมีเป้าหมายจะพัฒนาคนให้ได้ 100,000 คน ภายในปี 2567 กลุ่มที่ 2 นักศึกษาและบุคคลทั่วไป จะได้รับประโยชน์จากการเพิ่มโอกาสการได้ทำงานที่ต้องการและพัฒนาทักษะใหม่ ๆ ที่จำเป็น โดยปัจจุบันมีนวัตกรรมการศึกษาในรูปแบบ Higher Education Sandbox เกิดขึ้นจำนวน 11 โครงการ ซึ่งจะสามารถผลิตกำลังคนที่สอดคล้องตามความต้องการได้อย่างน้อย 20,000 คนภายในปี 2575 และกลุ่มที่ 3 หน่วยฝึกอบรม ได้รับการส่งเสริมให้พัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมที่ตอบโจทย์ตามความต้องการในหลากหลายสถานการณ์
“ปัจจุบัน กลไกการรับรองหลักสูตรฝึกอบรมเพื่อพัฒนาบุคลากรด้าน STEM ล่าสุดได้มีพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 777 และ ฉบับที่ 778) พ.ศ. 2566 ให้ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับการจ้างงานบุคลากรด้าน STEM และการพัฒนาบุคลากรในองค์กร ต่อไปอีก 3 ปี คือ พ.ศ. 2566 – 2568 คาดว่า แพลตฟอร์ม STEMPlus จะเป็นกลไกพัฒนากำลังคนรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมเป้าหมายในระยะต่อไป โดยเฉพาะการพัฒนาหลักสูตรระยะสั้น (non-degree) ให้ครอบคลุมในทักษะซึ่งเป็นที่ต้องการ และบริการที่ตอบสนองนักลงทุนในทุกมิติ ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยไปอีกขั้นด้วยวิทยาการขั้นสูง” รองผู้อำนวยการ สอวช. กล่าว
นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการจัดแสดงนิทรรศการจากหน่วยงานพันธมิตรที่เกี่ยวข้องกว่า 20 หน่วยงาน เพื่อสร้างการรับรู้ถึงสิทธิประโยชน์ และกลไกสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพกำลังคนในภาคอุตสาหกรรมไทยจากภาครัฐ และเพื่อส่งเสริมให้เกิดการยกระดับความสามารถของภาคอุตสาหกรรมอย่างเป็นระบบ ให้เกิดความร่วมมือด้านการพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงระหว่างผู้ประกอบการและสถาบันอุดมศึกษาแบบยั่งยืน
และยังให้บริการ STEMPlus คลินิก ให้คำปรึกษาด้านการพัฒนากำลังคน และแนะแนวทางเข้าถึงสิทธิประโยชน์ อาทิ มาตรการทางภาษีเพื่อส่งเสริมการจ้างบุคลากรที่มีทักษะสูงและการพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะสูง (Thailand Plus Package) ชี้เป้าให้เห็นถึงหลักสูตรที่ตอบโจทย์ตลาดแรงงานในอนาคต ตลอดจนสิทธิประโยชน์ของผู้ประกอบการ นักศึกษา ตลอดจนประชาชนทั่วไปที่จะได้รับอีกด้วย ส่วนผู้ที่พลาดงานนี้ สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.stempluls.or.th