SEARCH

ข่าวประชาสัมพันธ์

อว. ประสานความร่วมมือ บีโอไอ – สถาบันอุดมศึกษา พัฒนาแพลตฟอร์มผลิตกำลังคนนักวิทย์-วิศวกร ตอบโจทย์ความต้องการภาคเอกชนและการลงทุนในอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ไทย

26 ตุลาคม 2564 1,807

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานปลัด อว.  สำนักงาน        สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) สภาคณบดีวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย และสภาคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “โครงการระบบพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงเพื่อรองรับการลงทุนในอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ของประเทศไทย” โดยได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. อเนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.อว. แถลงนโยบายในประเด็น “นโยบายพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงเพื่อรองรับการลงทุนในอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ของประเทศไทย” ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. เอนก เผยว่า รู้สึกเป็นเกียรติและมีความยินดีที่ได้มีโอกาสมาร่วมเป็นสักขีพยานในโครงการพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อผลิตวิศวกรและนักวิทยาศาสตร์ที่มีสมรรถนะสูง ซึ่งในการเข้ามาช่วยงานอุตสาหกรรมที่เป็นยุทธศาสตร์ของประเทศ กระทรวง อว. เองอยากทำอะไรที่ตอบสนองภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะเชิงยุทธศาสตร์ให้มากที่สุด ซึ่งที่ผ่านมาเราทำด้าน Supply ด้านการให้ความรู้เป็นหลัก แต่โลกทุกวันนี้มีการพลิกโฉมเปลี่ยนแปลงไป เราจึงอยากขับเคลื่อนกระทรวงของเราจากทางด้าน Demand มากขึ้น ซึ่งการร่วมมือขับเคลื่อนทั้งกับ BOI และภาคธุรกิจในอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ จะเป็นกลไกสำคัญที่จะขยับประเทศไทยให้เป็นประเทศที่พัฒนาแล้วได้ ตามแผนยุทธศาสตร์ประเทศที่กำหนดให้เห็นผลชัดเจนภายในปี 2580 หรืออีก 16 ปีข้างหน้า “เราจะไม่ทำอะไรไปเรื่อย ๆ แต่เราต้องมีหลักชัยที่ปักไว้แล้วไปคว้าให้ได้ โดยกระทรวง อว. มีหลักชัย มีเป้าหมายว่าเราต้องไปถึงประเทศที่การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) พัฒนาแล้วในอีก 10 ปีข้างหน้า อววน. ต้องเข้ามาเป็นเครื่องมือสำคัญของรัฐและสังคม ในการช่วยขยับประเทศไทยไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้วให้ได้ การจัดโครงการนี้เหมือนเป็นโบนัส มีงานให้ 20,000 งานและเป็นการผลิตกำลังคนตอบโจทย์สำหรับธุรกิจโดยเฉพาะ เรามีเครื่องมือหนึ่งที่เรียกว่า Sandbox ด้านการอุดมศึกษา ที่จะสามารถปลดล็อกอะไรที่ติดขัด เป็นข้อจำกัด แล้วสังเกตดูว่าเรื่องที่ปลดล็อกทำให้ดีขึ้นหรือไม่ ถ้าดีก็อาจจะถูกผลักดันเป็นมาตรฐานทั่วไป การศึกษายุคใหม่ อย่าปล่อยให้เป็นหน้าที่อาจารย์ นักวิจัยอย่างเดียว ลูกศิษย์ที่จบไปต้องมีงานทำและเป็น lifelong learner เรียนจบแล้วเอาไปปฏิบัติได้ หรือในอนาคตต้องผลิตคนที่ออกไปแล้วทำงานได้เลยแบบ tailor-made” ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. อเนก กล่าว หลังพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ยังได้มีการจัดเวทีเสวนาในหัวข้อ “อุดมศึกษากับการพัฒนากำลังคนเพื่อสนับสนุนการลงทุน” โดย ดร. กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. ได้ร่วมแลกเปลี่ยนในประเด็น “นโยบายและทิศทางการพัฒนากำลังคนในอนาคตเพื่อรองรับการลงทุนในอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ของประเทศไทยกับการสนับสนุนการพัฒนานโยบายด้านกำลังคน” โดยได้กล่าวว่า สอวช. ได้ศึกษาเกี่ยวกับการพัฒนากำลังคนในอนาคตข้างหน้าที่จะมีจุดเน้นเพื่อตอบสนองความต้องการของประเทศ ซึ่งขณะนี้ อว. มีมาตรการหลายอย่างที่สร้างคนและหลายมาตรการก็ตรงกับความต้องการของภาคเอกชน โดยเราได้ทำการวิจัยรูปแบบและนโยบายการพัฒนากำลังคนว่ามีแนวโน้มจะเปลี่ยนไปใน 9 ทิศทาง คือ 1) การพัฒนาคนจะค่อยๆ เปลี่ยนจากการพัฒนาฝั่ง Supply Side ไปสู่ระบบการทำงานใหม่ที่เป็น Co-Creation ที่ผู้ผลิตคนและผู้ใช้ประโยชน์มาร่วมกันจัดตั้งแพลตฟอร์ม และร่วมพัฒนาคน ทั้งในเชิงการทำงานและการลงทุนร่วมกัน 2) สมัยก่อนคนมาศึกษาเพื่อให้ได้ปริญญาบัตรไป แต่ในอนาคตจะเริ่มมองถึงเรื่องการมีงานทำ การมีอาชีพ เปลี่ยนจาก Degree-based เป็น Ability Oriented 3) ระบบการสร้างคน จะเปลี่ยนจากการผลิตแบบ Content-Based เน้นเรียนเนื้อหา เป็น Competency-Based เน้นไปที่ความสามารถ ไม่ใช่เรียนเพื่อรู้เท่านั้น แต่เรียนเพื่อทำได้ด้วย 4) เมื่อก่อนเราใช้ชีวิตแบบ เกิดมา เรียนหนังสือ ทำงาน เกษียณ แต่อนาคตการศึกษาจะตอบโจทย์เรื่อง Multi-stage Life ชีวิตหลากหลายขั้นมากขึ้น วงจรของการศึกษาเปลี่ยนไป แทนที่จะผลิตเด็กตามเวลา 4 ปี ก็จะดูแลประชากรในวัยทำงาน วัยเกษียณด้วย 5) การปรับจาก Individual Institution มาเป็นระบบการทำ Credit Bank มากขึ้น ซึ่งหลายมหาวิทยาลัยเริ่มทำแล้วในตอนนี้ และในอนาคตก็จะมี National Credit Bank เกิดขึ้นด้วย 6) เรื่องของการ Reach access/Open access เปิดให้คนทั่วไปเข้ามาดูว่ามหาวิทยาลัยทำอะไรอยู่บ้าง และเข้ามามีส่วนร่วมกับทุกขั้นตอนของมหาวิทยาลัย 7) เปลี่ยนจาก Local perspective ไปสู่ Global มากขึ้น การสร้างเมืองให้เป็นศูนย์กลางทางการศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพไปสู่ระดับสากล8) เปลี่ยนจากการกระจุกไปสู่การกระจายโอกาส ในการเข้าถึงการอุดมศึกษาได้มากขึ้นด้วยต้นทุนที่ต่ำลง 9) ระบบการเงิน (Finance) ของมหาวิทยาลัยในอนาคต กำลังมีการพูดคุยกันค่อนข้างมาก จากที่เป็นการจัดสรรเงินอุดหนุนผ่านด้านอุปทาน (Supply Side Financing) ตามจำนวนของเด็กในมหาวิทยาลัย จะเปลี่ยนไปสู่การดูว่าในอนาคตมหาวิทยาลัยจะผลิตคนเพื่อตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจได้อย่างไร เรียกว่าเป็น Demand Directed Financing คือการใช้ความต้องการมากำหนดการให้เงินสนับสนุน โดยทั้ง 9 ทิศทางข้างต้นเป็นเทรนด์สำคัญที่ สอวช. กำลังทำงานในส่วนนี้ เพื่อให้สุดท้ายออกมาเป็นนโยบายที่จะขับเคลื่อนผลักดันตามแนวทางได้ต่อไป นอกจากนี้ ในเวทีเสวนายังได้รับเกียรติจากผู้ร่วมเสวนาอีกหลายท่านที่ได้มาแลกเปลี่ยนในประเด็นที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวง อว. ได้กล่าวถึงนโยบายของกระทรวง ตามที่มีการกำหนดปรัชญาอุดมศึกษาใหม่ มีใจความสำคัญคือการพัฒนาคนแบบ Lifelong Learning การพัฒนาสมรรถนะของคน รวมถึงการพัฒนากำลังคนร่วมกับภาคส่วนอื่น ๆ ซึ่งในปัจจุบันกระทรวงมีความพยายามที่จะพัฒนาหลักสูตรเพื่อตอบโจทย์ดังกล่าวด้วย เช่น โครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย (Reinventing University) ด้านนางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการ BOI กล่าวถึงปัจจัยด้านกำลังคนที่ส่งผลต่อการดึงดูดนักลงทุน ความเร่งด่วนในการผลิตและพัฒนากำลังคน อาทิ ช่างเทคนิค นักวิทยาศาสตร์ วิศวกร หรือนักวิจัย รวมถึงสิทธิประโยชน์จาก BOI เช่น มาตรการสนับสนุนการจัดตั้งสถาบันเพื่อพัฒนาบุคลากรทักษะสูงโดยภาคอุตสาหกรรม, เงินสนับสนุนการฝึกอบรม Advanced Technology Training เป็นต้น ด้านสภาคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทยและสภาคณบดีวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ที่ผลิตบัณฑิตปริญญาตรีในสายงานวิศวกรรมศาสตร์และสายวิทยาศาสตร์ สายงานละกว่า 3 หมื่นคนต่อปี มองว่ามหาวิทยาลัยแต่ละแห่งมีความเชี่ยวชาญในการเรียนการสอนในบริบทที่ต่างกัน โดยมีความมุ่งหวังว่าความร่วมมือที่เกิดขึ้นในครั้งนี้จะนำไปสู่การพัฒนาหลักสูตรและความร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อตอบโจทย์การผลิตกำลังคนสู่ภาคอุตสาหกรรมได้ในอนาคต ดร. สัมพันธ์ ศิลปนาฎ ประธานความร่วมมือสหกิจศึกษาโลก (WACE) และรองประธานฯ ฝ่ายปฏิบัติการฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ บริษัท เวสเทิร์น ดิจิตอล สตอเรจ เทคโนโลยีส์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้แลกเปลี่ยนถึงหัวใจสำคัญของภาคการศึกษา ว่าต้องอาศัยความร่วมมือทั้งภาครัฐและเอกชน แบบ Co-creation ฝั่งผู้ใช้ที่มีความต้องการต้องเข้ามาร่วมกับฝ่ายผลิตที่เป็นสถาบันการศึกษาตั้งแต่ต้น ซึ่งการเรียนแบบ Co-creation นับเป็นการใช้ความรู้แบบขาออกด้วย คือ การนำเอาความรู้ ทักษะที่มีไปใช้ในการทำงานจริง ด้าน รศ. ดร. จิรารัตน์ อนันตกูล หัวหน้าศูนย์ประสานงานและบริการเบ็ดเสร็จ (STEM One-Stop Service) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวถึงบทบาทของศูนย์ประสานงานฯ ที่จะเข้ามาเป็นจุดเชื่อมโยง ช่วยเหลือด้านการจัดหา ผลิต และพัฒนากำลังคนให้กับผู้ประกอบการ มีบทบาทหน้าที่ในการประสานงาน เชื่อมโยงฝั่ง Demand และฝั่ง Supply วิเคราะห์ความต้องการ และบริหารจัดการข้อมูล ที่ให้ภาคเอกชนสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ด้วย โดยโปรแกรมที่ศูนย์ประสานงานฯ จะช่วยเชื่อมโยงให้เกิดขึ้นได้ ได้แก่ Job Positioning, Reskill/Upskill ให้แก่บุคลากรขององค์กร, Co-Creation รวมถึงการจัดตั้งศูนย์ Industrial Training Center (ITC) ---------------------------------------- สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม : สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) โทรศัพท์ 02 109 5432 ต่อ 730 มือถือ 08-0441-5450 (วรรณพร) 06-4474-1696 (กชวรรณ) Email: [email protected] / Website: www.nxpo.or.th / Facebook: https://www.facebook.com/NXPOTHAILAND/

สอวช. ร่วมกับ สำนักเคเอกซ์ มจธ. เปิดตัวแพลตฟอร์มพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงด้านสะเต็ม พร้อมต่อยอดเฟส 2 ดึงเครื่องมือวัดสมรรถนะจากญี่ปุ่นช่วยคัดเลือกพนักงานก่อนเข้าทำงานจริง

25 ตุลาคม 2565 686

(12 ตุลาคม 2565) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมกับสำนักเคเอกซ์ (Knowledge Exchange: KX) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) จัดงานเปิดตัว STEM One-Stop Service (STEM OSS) แพลตฟอร์มพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูง ณ อาคารเคเอกซ์ ชั้น 17 ลาน X-CITE SPACE และการถ่ายทอดสดผ่านระบบออนไลน์ โดยมี ผศ.ดร.พูลศักดิ์ โกษียาภรณ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สอวช. เป็นผู้กล่าวเปิดงานดร.พูลศักดิ์ กล่าวถึงจุดเริ่มต้นที่ สอวช. ได้ร่วมกับหลายหน่วยงาน จัดทำแพลตฟอร์ม STEM OSS ขึ้นมา สืบเนื่องจากสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั้งในประเทศไทยและในระดับโลก ไม่ว่าจะเป็นสงครามทางการค้า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งในห่วงโซ่อุปทานหรือห่วงโซ่คุณค่าด้านการผลิต ประเทศไทยจึงต้องมีการปรับตัวและพัฒนาในแง่ของการขับเคลื่อนทางด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในมิติเรื่องกำลังคน จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นข้างต้น ส่งผลกระทบด้านการลงทุนในประเทศ ที่นักลงทุนต้องมีการตัดสินใจว่าจะเข้ามาลงทุนในไทยหรือย้ายฐานการผลิตไปในประเทศอื่น คำถามสำคัญที่ตามมาคือเรื่องของกำลังคนที่จะต้องพร้อมรองรับและตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มนักลงทุน ซึ่งที่ผ่านมาเราอาจจะไม่ได้มีกลไกในการช่วยสนับสนุนหรือช่วยจับคู่ สร้างหรือผลิต พัฒนากำลังคนให้ตอบโจทย์ความต้องการและร่วมมือกับนักลงทุน หรือในกลุ่มนักลงทุนเดิมในประเทศ ที่ต้องการขยายกำลังการผลิตหรือขยายกิจการ ต้องการเลือกเฟ้นหาบุคลากรมากขึ้น แต่ยังไม่มีแนวทางที่จะเข้าถึงกำลังคนเหล่านี้ จึงเป็นที่มาที่เราต้องสร้างกลไกที่จะช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการ และยังช่วยตอบโจทย์บัณฑิต เยาวชนคนรุ่นใหม่ของเรา ให้ได้มีอาชีพ มีงานที่ดี ตรงกับความต้องการสำหรับแพลตฟอร์ม STEM OSS เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่าง 5 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) สภาคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย สภาคณบดีวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย และ สอวช. เพื่อร่วมกำหนดแนวทางการผลิตและพัฒนากำลังคนที่ตอบโจทย์ความต้องการของภาคธุรกิจ ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ รวมถึงการพัฒนากลไกเพื่อเชื่อมโยงความสามารถในการผลิตกำลังคนสมรรถนะสูง จากสถาบันอุดมศึกษาที่สอดคล้องกับความต้องการของภาคเอกชน และการร่วมกับภาคเอกชนในการวางแผนการพัฒนากำลังคนทักษะสูงในสาขาเฉพาะเจาะจงทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการกำหนดทิศทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงสามารถดึงดูดการลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติเข้ามายังประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้น“มาตรการสนับสนุนของภาครัฐ ในช่วงที่ผ่านมีมาตรการส่งเสริมจากกรมสรรพากร ทั้งในแง่การดึงดูดให้มีการจ้างงานกำลังคนด้านสะเต็ม รวมถึงการพัฒนาบุคลากรในเชิงการฝึกอบรมผ่านหลักสูตรด้านสะเต็ม ซึ่ง STEM OSS ก็จะเข้าไปช่วยอำนวยความสะดวกในการคัดสรรหลักสูตรที่ผ่านมาตรฐานให้ได้รับการรับรอง และเปิดให้สถานประกอบการส่งบุคลากรเข้าไปฝึกอบรม และนำค่าใช้จ่ายในการจ้างงานและการฝึกอบรม ไปขอยกเว้นภาษีเงินได้กับทางกรมสรรพากรได้ โดยปัจจุบันมีหลักสูตรที่ผ่านการรับรองแล้วกว่า 472 หลักสูตร มีบุคลากรได้รับการพัฒนาไปแล้วกว่า 15,388 คน มีการจ้างงานกำลังคนด้านสะเต็มและผ่านการรับรองจาก สอวช. แล้ว 894 ตำแหน่ง และเชื่อว่าในอนาคตจะมีการจ้างงานกำลังคนด้านสะเต็มเพิ่มมากขึ้น” ดร.พูลศักดิ์ กล่าวในการก้าวเข้าสู่เฟสที่ 2 ของแพลตฟอร์ม STEM OSS ต้องมองถึงการพัฒนามาตรการส่งเสริมการสร้างประสิทธิภาพ สร้างกระบวนการในการผลิตและพัฒนากำลังคนที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งสำนักเคเอกซ์ก็ได้นำเครื่องมือ Progress Report on Generic Skills (PROG) ที่ใช้ในการวัดและประเมิน Soft Skill จากประเทศญี่ปุ่นเข้ามาใช้ เพื่อช่วยผู้ประกอบการในการตัดสินใจคัดเลือกพนักงานก่อนเข้าทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีการประเมินใน 3 ทักษะหลักคือ ทักษะในการทำงานร่วมกับผู้อื่น ทักษะส่วนบุคคล และทักษะในการแก้ปัญหา ซึ่ง PROG จะเข้ามาช่วยในการสรรหาบุคลากรเข้าทำงาน โดยเฉพาะทักษะด้านคนหรือด้านสังคม ช่วยในการพัฒนาบุคลากร อีกทั้งยังช่วยในการจัดทำแผนพัฒนารายบุคคลได้ โดยตั้งแต่เริ่มต้นพัฒนาการใช้แพลตฟอร์มในเฟส 2 เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา มีการนำเครื่องมือ PROG มาช่วยจับคู่สถานประกอบการกับผู้สมัครงานไปแล้วรวม 19 ตำแหน่ง เป็นตำแหน่งทางด้านวิทยาศาสตร์ 1 ตำแหน่ง ด้านเทคโนโลยี 5 ตำแหน่ง ด้านวิศวกรรมศาสตร์ 12 ตำแหน่ง และด้านคณิตศาสตร์ 1 ตำแหน่ง เมื่อมองในภาพรวมการพัฒนาแพลตฟอร์ม STEM OSS ขึ้นมาจึงถือเป็นพลังสำคัญให้กับผู้ประกอบการ ในการทำความร่วมมือกับภาคการศึกษาในการพัฒนากำลังคน และช่วยตอบโจทย์ประเทศเพื่อก้าวสู่การเป็นประเทศที่พ้นจากกับดักรายได้ปานกลางได้ นายวรรณภพ กล่อมเกลี้ยง รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารสำนักเคเอกซ์ และหัวหน้าศูนย์ประสานงานและบริการเบ็ดเสร็จ STEM OSS ยังได้แนะนำให้เห็นภาพรวมบริการของแพลตฟอร์ม ที่ตอบโจทย์ทั้งกลุ่มผู้ประกอบการ และกลุ่มนักศึกษาหรือบุคคลทั่วไป โดยในกลุ่มผู้ประกอบการ สามารถแจ้งความประสงค์ความต้องการกำลังคน ค้นหาหลักสูตรฝึกอบรมที่ผ่านการรับรองจาก อว. และขอรับรองการจ้างแรงงานลูกจ้างที่มีทักษะสูงด้านสะเต็มได้ ส่วนของกลุ่มนักศึกษาหรือบุคคลทั่วไป สามารถฝากประวัตสำหรับการสมัครงานหรือเข้าร่วมโครงการ ค้นหาหลักสูตรฝึกอบรมที่ผ่านการรับรองจาก อว. และประเมินสมรรถนะทางอาชีพสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายได้ โดย STEM OSS จะช่วยประสานงานจับคู่การจ้างงานบุคลากรสมรรถนะสูงให้แก่สถานประกอบการ ประสานงานการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาทักษะให้แก่บุคลากรภายในองค์กร สร้างความร่วมมือในการผลิตบุคลากร ระหว่างภาคการศึกษาและภาคอุตสาหกรรม ประสานงานให้เกิดการจัดตั้งศูนย์ Industrial Training Center (ITC) และประสานงานด้านข้อมูลสิทธิประโยชน์ที่ผู้ประกอบการจะได้รับจากการสร้างความร่วมมือผ่านแพลตฟอร์ม ด้านนางสาวซ่อนกลิ่น พลอยมี รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ได้กล่าวถึงมาตรการส่งเสริมของ BOI โดยเฉพาะในกลุ่มประเภทกิจการที่ให้การส่งเสริมการลงทุน หมวดการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่มีรูปแบบการให้สิทธิประโยชน์ทั้งสิทธิประโยชน์พื้นฐานและสิทธิประโยชน์เพิ่มเติม ที่เชื่อมโยงกับแพลตฟอร์ม STEM OSS เช่น มาตรการยกเว้นภาษีเงินได้ให้กับกลุ่มกิจการที่มีการวิจัยและพัฒนา การฝึกอบรมหรือฝึกการทำงานนักศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การฝึกอบรมด้านเทคโนโลยีขั้นสูง นอกจากนี้ ยังมีมาตรการส่งเสริมการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (HRD) ที่จะช่วยเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้กับกิจการที่เกี่ยวข้องหรือมีเงื่อนไขตรงตามที่กำหนด ให้สามารถขอยกเว้นภาษีเงินได้ได้เช่นเดียวกัน เช่น กิจการสถานฝึกฝนวิชาชีพ สถานศึกษาหรือสถาบันอุดมศึกษาที่มีศักยภาพสูง หรือศูนย์บ่มเพาะด้านนวัตกรรม การจัดโครงการสนับสนุนสถาบันการศึกษา เป็นต้น สำหรับผู้ที่สนใจเข้าใช้งานแฟลตฟอร์ม STEM OSS สามารถเข้าถึงได้ผ่านเว็บไซต์ https://stemplus.or.th/ ----------------------------------------   สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม : สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ(สอวช.) โทรศัพท์ 02 109 5432 ต่อ 419 มือถือ 06-4474-1696 (กชวรรณ) Email: [email protected] / Website: www.nxpo.or.th / Facebook: https://www.facebook.com/NXPOTHAILAND/          

สอวช. จัดเต็มเปิด 95 หลักสูตรพัฒนาบุคลากรด้านสะเต็ม รองรับความต้องการทั้งปัจจุบันและอนาคต พร้อมมอบสิทธิประโยชน์ให้ผู้ประกอบการยกเว้นภาษีได้มากถึง 250%

21 เมษายน 2565 1,726

               ดร. กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยละนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เปิดเผยว่า ตัวเลขจำนวนหลักสูตรฝึกอบรมเพื่อพัฒนาบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ หรือสะเต็ม (STEM) เติบโตขึ้นมาก จากการที่ทั้งภาคมหาวิทยาลัย สถาบันอบรมทั้งภาครัฐและเอกชนให้ความสนใจผลิตหลักสูตรและผ่านการรับรองตามมาตรการ Thailand Plus Package ซึ่งล่าสุดมีหลักสูตรที่ผ่านการรับรองแล้วกว่า 95 หลักสูตร จากหน่วยฝึกอบรมชั้นนำ ทั้งมหาวิทยาลัย ภาครัฐ และภาคเอกชน รวม 12 แห่ง โดยแต่ละหลักสูตรมีความสอดคล้องกับความต้องการบุคลากรของอุตสาหกรรมเป้าหมาย (Future Skills Set) ใน 13 อุตสาหกรรม ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่, อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ, อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวระดับคุณภาพ, อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ, อุตสาหกรรมอาหารเพื่ออนาคต, อุตสาหกรรมหุ่นยนต์, อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์, อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ, อุตสาหกรรมดิจิทัล, อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร, อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ, อุตสาหกรรมที่สนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียน, และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และการวิจัยพัฒนาเพื่ออุตสาหกรรมเป้าหมาย                          ตัวอย่างหลักสูตรที่น่าสนใจ เช่น หลักสูตร Storytelling for Brands in the Digital Age, หลักสูตร Fintech Fundamentals, หลักสูตร Data Analytics “เพิ่มศักยภาพในการแข่งขันด้วยการวิเคราะห์ข้อมูล”, หลักสูตรการวิเคราะห์ผลผลิตที่ตอบสนองต่อความต้องการของตลาดอย่างทันท่วงที, หลักสูตรกลยุทธ์การพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างโอกาสในตลาดสากล, หลักสูตรพัฒนาผู้เชี่ยวชาญด้านบูรณาการอุปกรณ์ควบคุมระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ในงานอุตสาหกรรม เป็นต้น                   โดยผู้ประกอบการที่ส่งบุคลากรเข้ารับการฝึกอบรมในหลักสูตรที่ผ่านการรับรอง สามารถนำไปขอยกเว้นภาษีเงินได้ถึง 250% ของค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมลูกจ้าง นอกจากนี้หากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบกิจการในอุตสาหกรรมเป้าหมายและมีการจ้างงานบุคลากรที่มีทักษะสูงในด้านสะเต็ม สามารถนำค่าใช้จ่ายที่เป็นเงินเดือนของพนักงานไปขอยกเว้นภาษีเงินได้จากกรมสรรพากรได้ 150%            ในส่วนรายละเอียดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับการจ้างแรงงานลูกจ้างที่มีทักษะสูงด้านสะเต็ม และการส่งลูกจ้างเข้ารับการศึกษาหรือฝึกอบรมหรือการจัดฝึกอบรมให้แก่ลูกจ้าง เพื่อพัฒนาบุคลากรด้านสะเต็ม สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้จากประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ ฉบับที่ 422 และฉบับที่ 423 ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถยื่นคำขอรับรองหลักสูตรฝึกอบรม ขอรับรองการจ้างงาน หรือเข้าดูหลักสูตรฝึกอบรมที่ผ่านการรับรองแล้ว พร้อมศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.stemplus.or.th    

การเตรียมความพร้อมของภาคเอกชน ภาครัฐ และสถาบันอุดมศึกษา รองรับทักษะแห่งอนาคตของแรงงานไทย

21 ตุลาคม 2564 1,180

สอวช. ได้กล่าวถึงทักษะมนุษย์-แรงงานที่จำเป็นสำหรับประเทศไทยในโลกหลังโควิด-19 ไปก่อนหน้านี้ และแน่นอนว่าประเทศไทยก็จะต้องมีแนวทางการเตรียมความพร้อมไปสู่การเปลี่ยนแปลง รองรับทักษะแห่งอนาคตเหล่านั้นสำหรับกลุ่มแรงงาน ซึ่งการเตรียมความพร้อมนั้นแบ่งได้เป็นทั้งในภาคเอกชน ภาครัฐ และสถาบันอุดมศึกษา การเตรียมความพร้อมของภาคเอกชน ในฐานะผู้ที่ได้ประโยชน์จากการมีกำลังแรงงาน ควรส่งเสริมงานที่ใช้ประโยชน์กำลังคนแรงงานทักษะสูง หรือเพิ่มการจ้างงานที่ส่งเสริมศักยภาพ (productive employment) รวมถึงควรมีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนากำลังคนในรูปแบบต่างๆ เช่น การให้ข้อมูลความต้องการกำลังคนแก่ผู้กำหนดนโยบาย การร่วมออกแบบหลักสูตร การแบ่งปันเครื่องมือหรืออุปกรณ์หรือพื้นที่สำหรับการฝึกอบรม (workplace learning) หรือการร่วมจัดการศึกษาและฝึกอบรม เป็นต้น ในปัจจุบันภาคเอกชนหลายแห่งได้เริ่มจัดการศึกษาแบบ Corporate College เป็นการเรียนการสอนในรูปแบบทวิภาคีระหว่างสถานศึกษาและสถานประกอบการ เน้นการเรียนรู้ภาคทฤษฎีควบคู่ไปกับภาคปฏิบัติในสถานประกอบการตลอดหลักสูตร รวมถึงการฝึกอบรมเพื่อให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลตรงตามความต้องการของภาคธุรกิจ โดยนักศึกษาที่มีความสนใจสามารถศึกษาต่อในระดับปริญญาโทที่สถาบันเทคโนโลยีปัญญาภิวัตน์ได้ ด้านบทบาทของภาครัฐกับการลงทุนในการสร้างทักษะแห่งอนาคต หน่วยงานภาครัฐควรปรับบทบาทเป็นผู้อำนวยความสะดวก ส่งเสริมระบบนิเวศการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยจัดทำมาตรการส่งเสริมในรูปแบบต่าง ๆ และควรมุ่งเน้นการกระจายอำนาจ เพื่อส่งเสริมให้ผู้เล่นที่อยู่ในส่วนภูมิภาคหรือท้องถิ่นมีอิสระและความคล่องตัวในการจัดเรียนรู้ให้ตรงความต้องการของกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่มากขึ้น รวมถึงควรส่งเสริมการสร้างประสิทธิภาพของกลไกตลาด ในการผลักดันการเรียนรู้ตลอดชีวิตมากขึ้น ในระดับอุดมศึกษา ควรมุ่งเน้นการสนับสนุนการจัดการศึกษาฐานสมรรถนะที่มีการบูรณาการความรู้และทักษะจากการฝึกปฏิบัติจริง โดยสถาบันอุดมศึกษาต้องพัฒนาหลักสูตรฐานสมรรถนะ และส่งเสริมการจัดการศึกษาที่บูรณาการร่วมกับการทำงาน เพื่อให้นักศึกษาได้รับความรู้และทักษะจากการฝึกปฏิบัติในสภาพแวดล้อมของภาคธุรกิจจริง เช่น การฝึกงานระยะสั้น การบูรณาการการเรียนรู้กับการทำงาน (Work-integrated Learning, WiL) สหกิจศึกษา ซึ่งจะนำไปสู่การผลิตบัณฑิตที่มีทักษะที่ตอบโจทย์การทำงานหรือการเป็นผู้ประกอบการ สามารถตอบสนองความต้องการของภาคผู้ใช้บัณฑิตได้มากขึ้น สามารถแข่งขันในตลาดงาน และมีภูมิคุ้มกันต่อภาวะวิกฤต มีการเชื่อมโยงระหว่างสถาบันการศึกษา ภาคอุตสาหกรรม และรัฐบาลในการจัดการศึกษา ส่งต่อข้อมูลความต้องการด้านทักษะที่ตอบโจทย์สถานประกอบการสู่สถาบันอุดมศึกษา  รวมถึงส่งเสริมให้ภาคเอกชนร่วมจัดการศึกษาโดยการจัดทำมาตรการจูงใจและสิทธิประโยชน์สำหรับสถานประกอบการที่ร่วมลงทุน/ร่วมจัดการศึกษา ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบแนะแนวเพื่อส่งเสริมการค้นหาตนเอง และการสร้างแรงบันดาลใจในการเรียน สร้าง growth mindset และการเป็นผู้เรียนรู้แบบนำตนเอง (self-directed learner) เพื่อให้เด็กสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองให้ตอบโจทย์สถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต มีการสนับสนุนทางการศึกษาที่ตรงตามความถนัดและความสนใจของเด็กแต่ละบุคคล บนความเชื่อว่าเด็กทุกคนมีศักยภาพที่แตกต่างกัน มีความต้องการและความถนัดที่แตกต่างกัน เปิดโอกาสให้เด็กได้เรียนรู้ในสิ่งที่สนใจ ซึ่งจะนำไปสู่การเกิดแรงบันดาลใจ เห็นคุณค่าในตนเอง มีความพยายามเพื่อไปถึงจุดมุ่งหมาย และสามารถต่อยอดเป็นการพัฒนาศักยภาพตนเองอย่างไม่มีขีดจำกัด สำหรับกลุ่มแรงงาน ทั้งในระบบและนอกระบบ การพัฒนากำลังแรงงานควรมุ่งเน้นการเข้าถึงแรงงานให้ครอบคลุมทุกกลุ่ม และส่งเสริมการพัฒนาใน 3 ด้าน ดังนี้ 1) ด้านการส่งเสริมและจูงใจในการพัฒนาทักษะแรงงาน มุ่งเน้นมาตรการส่งเสริมทางการเงินโดยตรงไปที่ตัวบุคคลและการสร้างแรงจูงใจให้เห็นความสำคัญของการพัฒนาทักษะผ่านการให้ข้อมูลเชิงรุกไปยังกลุ่มเป้าหมาย 2) ด้านระบบนิเวศการพัฒนาทักษะแรงงาน เช่น พัฒนาระบบธนาคารหน่วยกิตแห่งชาติ (National Credit Bank) การพัฒนาหลักสูตรระยะสั้น (Non-degree) การพัฒนาแพลตฟอร์มที่ให้บริการด้านการพัฒนาทักษะและเชื่อมโยงกับการจ้างงานแบบครบวงจร 3) ด้านการพัฒนากำลังแรงงานเฉพาะกลุ่ม อาทิ การส่งเสริมทางการเงินและยกระดับสวัสดิภาพด้วยการจัดทำแพ็คเกจสวัสดิการที่หลากหลายเพื่อสนับสนุนการพัฒนาทักษะสำหรับกลุ่มแรงงานนอกระบบและกลุ่มเปราะบาง การส่งเสริมพื้นที่เรียนรู้สาธารณะ กระตุ้นการเรียนรู้แบบสหวิทยาการ สนับสนุนให้เกิดการแข่งขันของแพลตฟอร์มให้บริการหางานเพื่อให้ต้นทุนการใช้งานแพลตฟอร์มที่ผู้หางานต้องแบกรับลดลงสำหรับกลุ่ม Gig Workers ทักษะสูง ในกลุ่มแรงงานสูงอายุ ควรส่งเสริมให้ประชากรไทยเป็น active and productive ageing ส่งเสริมการเรียนรู้ทั้งเพื่อการประกอบอาชีพ การใช้ชีวิต และการเข้าสังคมให้กับผู้สูงอายุ เพื่อให้ผู้สูงอายุมีความรู้ในการดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุข และสามารถทำประโยชน์ให้สังคมและเศรษฐกิจได้ นอกจากนี้ควรมีการเตรียมความพร้อมให้กับผู้สูงอายุและผู้ที่กำลังจะเข้าสู่วัยสูงอายุ มุ่งเน้นการเพิ่มทักษะหรือการเปลี่ยนทักษะ (upskill/reskill) เตรียมพร้อมทำงานในวัยสูงอายุให้กับคนในวัยก่อนเกษียณ รวมถึงการให้ความรู้ที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตในวัยสูงอายุ เช่น การดูแลสุขภาพ การออม โดยสถาบันอุดมศึกษา หน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และภาคเอกชนมีส่วนร่วมพัฒนาทักษะให้กับคนกลุ่มดังกล่าว ส่งเสริมให้เกิดโรงเรียนผู้สูงอายุรูปแบบใหม่ ส่งเสริมให้เกิดแพลตฟอร์มที่รวบรวมวิชาเรียนที่ผู้สูงอายุสามารถเข้าถึงได้ง่าย ตัวอย่างการดำเนินงานด้านการพัฒนากำลังคนของภาครัฐ เช่น โครงการบัณฑิตพันธุ์ใหม่ เป็นโครงการที่จัดโดยกระทรวง อว. มีเป้าหมายในการสร้างบัณฑิตและกำลังคนที่มีสมรรถนะและศักยภาพสูงสำหรับการทำงานในอุตสาหกรรมอนาคตของประเทศไทย (New S-Curve) ที่เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ผ่านการทำงานร่วมกันระหว่างภาคการศึกษาและภาคอุตสาหกรรมที่มีความพร้อม เพื่อสร้างประสบการณ์การปฏิบัติงานในสภาพจริงให้กับนักศึกษาและแรงงานลูกจ้าง เน้นการบูรณาการศาสตร์หลากหลายศาสตร์ ที่ครอบคลุมทั้งทักษะชีวิตของสังคมดิจิทัลและทักษาะวิชาชีพเข้ากับหมวดวิชาศึกษาทั่วไป ผ่านหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอนที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการและการพัฒนาทักษะการเรียนรู้รายบุคคล โดยมีลักษณะหน่วยแยกเชิงผลลัพธ์การเรียนรู้และผลการเรียน เพื่อเพิ่มความคล่องแคล่วของการปรับตัวของหลักสูตรการเรียนการสอนต่อการเปลี่ยนแปลงของภาคการผลิต อีกหนึ่งตัวอย่างคือ Generation Model เป็นโมเดลการฝึกอบรมแบบเข้มข้น ผ่านรูปแบบของหลักสูตรระยะสั้น ที่มีการเชื่อมโยงฝั่งอุปทานของการศึกษา เช่น โรงเรียนมัธยม สถาบันโพลีเทคนิค และมหาวิทยาลัย กับภาคเอกชนและอุตสาหกรรมโดยตรง โดยมีจุดประสงค์หลักในการส่งเสริมการพัฒนาทักษะเฉพาะทางและทักษะในการหางาน เช่น การฝึกการสัมภาษณ์งานที่เสมือนจริง และกลุ่มเป้าหมายหลักเป็นผู้สำเร็จการศึกษาที่ต้องการหางานทำ ซึ่งหลังจากการเข้าร่วมฝึกอบรมแล้ว สมาชิกในโครงการจะมีเส้นทางอาชีพที่ชัดเจนมากขึ้น เนื่องจากมูลนิธิ Generation มีเครือข่ายความร่วมมือกับภาคธุรกิจเพื่อวิเคราะห์ความต้องการด้านทักษะอาชีพโดยเฉพาะ และมีการจับคู่ตำแหน่งงานในสถานประกอบการกับผู้ผ่านการฝึกอบรมอีกด้วย นอกจากนี้แล้ว มูลนิธิ Generation ยังมีการพัฒนาศักยภาพให้กับทั้งวิทยากรผู้สอนและเจ้าหน้าที่สนับสนุนอยู่ตลอดเวลา รวมถึงการจัดทำ End-to-End Technology Platform เพื่อการฝึกอบรมในรุ่นต่อ ๆ ไปด้วย สำหรับบทบาทของ สอวช. ได้สนับสนุนริเริ่มให้เกิดแนวทางด้านนโยบาย รวมถึงโครงการหลายโครงการที่เข้าไปเป็นฐานในการเสริมทักษะที่จำเป็นในอนาคตให้กับประชาชน อีกทั้งยังส่งเสริมรูปแบบการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้เข้ากับการที่ประชาชนมีวิถีแบบหลายช่วง อีกส่วนที่สำคัญคือการสนับสนุนภาคการศึกษา โดยเฉพาะระดับอุดมศึกษาให้สามารถผลิตกำลังคนที่มีศักยภาพตอบสนองความต้องการของประเทศและภาคอุตสาหกรรมทั้งในปัจจุบันและในอนาคตได้ ผู้ที่สนใจสามารถอ่านบทความเรื่อง ทักษะมนุษย์-แรงงานที่จำเป็นสำหรับประเทศไทยในโลกหลังโควิด-19 ได้ที่ https://www.nxpo.or.th/th/9115/ ที่มาของข้อมูล : รายงานการศึกษา เรื่อง การส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong learning) เพื่อรองรับการพลิกโฉมฉับพลันและวิกฤตการณ์โลก รัฐมนตรี ฯ อเนก นำทีมผู้บริหาร อว. ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโครงการบัณฑิตพันธุ์ใหม่ฯ จังหวัดน่าน”, กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (2020) https://www.mhesi.go.th/index.php/en/pr-executive-news/2823-2020-12-03-14-40-43.html https://www.generation.org/ (PDF)

อว.เปิด 58 หลักสูตรสะเต็ม พัฒนาโดย 12 หน่วยฝึกอบรมชั้นนำ สอดคล้องอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ

2 มีนาคม 2565 1,079

อว.เปิด 58 หลักสูตรสะเต็ม(STEM) พัฒนาโดย 12 หน่วยฝึกอบรมชั้นนำ ทั้งมหาวิทยาลัย ภาครัฐ และภาคเอกชน สอดคล้องอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ เผยผู้ประกอบการที่ส่งบุคลากรเข้ารับการฝึกอบรมใน 58 หลักสูตรสามารถนำไปขอยกเว้นภาษีเงินได้ถึง 250%เมื่อวันที่ 2 มี.ค. ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า อว. ได้จัดทำหลักสูตรฝึกอบรมเพื่อพัฒนาบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ หรือสะเต็ม (STEM) กว่า 58 หลักสูตร ซึ่งเป็นทักษะที่สอดคล้องกับความต้องการของอุตสาหกรรมเป้าหมาย (Future Skills Set) โดยทั้ง 58 หลักสูตรนี้มาจาก 12 หน่วยฝึกอบรมชั้นนำที่มีความน่าเชื่อถือ ทั้งมหาวิทยาลัย ภาครัฐ และภาคเอกชน ที่ผ่านการรับรองตามมาตรการ Thailand Plus Package โดยผู้ประกอบการที่ส่งบุคลากรเข้ารับการฝึกอบรมในหลักสูตรเหล่านี้ สามารถนำไปขอยกเว้นภาษีเงินได้ถึง 250% ของค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมลูกจ้าง และหากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบกิจการในอุตสาหกรรมเป้าหมายจ้างงานบุคลากรที่มีทักษะสูงในด้านดังกล่าว สามารถนำค่าใช้จ่าย “เงินเดือน” ของพนักงานไปขอยกเว้นภาษีเงินได้ได้อีก 150% จากกรมสรรพากร“ขอเชิญชวนหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น สถาบันอุดมศึกษา พัฒนาหลักสูตรประกาศนียบัตร หรือ Non Degree เพื่อพัฒนากำลังคนด้านสะเต็มมายื่นขอรับการรับรองหลักสูตร และขอเชิญชวนบริษัทต่างๆ ส่งบุคลากรเข้ารับการฝึกอบรม ซึ่งนอกจากจะได้รับความรู้และพัฒนาทักษะแล้ว ยังช่วยลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย” ศ.(พิเศษ) ดร.เอนกด้าน ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผอ.สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันมีหลักสูตรที่ได้รับการอนุมัติแล้ว 58 หลักสูตร และยังมีอีกกว่า 222 หลักสูตรที่ยังรอการพิจารณา ซึ่งทุกหลักสูตรต้องสอดคล้องกับความต้องการทักษะบุคลากรสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวระดับคุณภาพ อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ อุตสาหกรรมอาหารเพื่ออนาคต อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ อุตสาหกรรมดิจิทัล อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ อุตสาหกรรมที่สนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียน และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และการวิจัยพัฒนาเพื่ออุตสาหกรรมเป้าหมาย ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถเข้าดูหลักสูตรฝึกอบรมที่ผ่านการรับรองหรือศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.stemplus.or.th

เว็บไซต์ มีการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็มไซต์ (Cookies) เพื่อพัฒมาประสบการณ์ของผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่